เสนอ ท่านผู้ถือหุ้น บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)

คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยกรรมการอิสระสามท่านซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านบัญชีการเงิน กฎหมาย และธุรกิจ คณะกรรมการตรวจสอบทุกท่านมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

คณะกรรมการตรวจสอบปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ เที่ยงธรรมตามขอบเขตในกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งได้รับการทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและผ่านการอนุมัติโดยคณะกรรมการบริษัทเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบสนับสนุนให้มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งในเรื่องหลักธรรมาภิบาล จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบและความโปร่งใสเพื่อความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว

ในปี 2566 คณะกรรมการตรวจสอบมีการประชุมทั้งสิ้น 11 ครั้ง โดยมีกรรมการตรวจสอบเข้าประชุมครบองค์ประชุมทุกครั้ง

คณะกรรมการตรวจสอบได้ทำการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการตรวจสอบประจำปี ทั้งเป็นรายบุคคลและรายคณะ ซึ่งผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ รวมทั้งได้มีการพิจารณาภาวะความถดถอยทางธุรกิจ และ ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ นอกเหนือจาก ความเสี่ยงทางธุรกิจ และประสิทธิภาพขององค์กร ในการพิจารณาลำดับความสำคัญของแผนงานปี 2567

หน้าที่หลักของคณะกรรมการตรวจสอบสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  1. การสอบทานรายงานทางการเงิน คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทาน และพิจารณางบการเงินรวมรายไตรมาสและงบการเงินรวมของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ร่วมกับฝ่ายบริหารและผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย (TFRS) และ สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสากล (IFRS) ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบได้หารือกับผู้สอบบัญชีเรื่องความถูกต้องครบถ้วนของงบการเงินและการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน การปรับปรุงรายการบัญชีที่สาระสำคัญซึ่งมีผลกระทบต่องบการเงิน ขอบเขตการตรวจสอบ ความเพียงพอเหมาะสมของวิธีการบันทึกบัญชี รวมทั้งการประเมินการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของรายงานทางการเงิน และเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้งบการเงิน นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้ประชุมร่วมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายบริหารของบริษัทฯ เพื่อพิจารณาขอบเขต แนวทางและแผนการสอบบัญชีรายไตรมาสและประจำปีของผู้สอบบัญชีและสอบถามถึงความเสี่ยงของรายการผิดปกติที่เกิดขึ้นหรือที่ผู้สอบบัญชีพบระหว่างการตรวจสอบ ตลอดจนพิจารณาว่ามีข้อมูลที่น่าสงสัยซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีการทุจริตหรือไม่ โดยสรุป ผู้สอบบัญชีไม่มีข้อสังเกตและไม่พบข้อบ่งชี้ใดๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่น่าสงสัยที่จะมีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทฯ

  2. การสอบทานรายการที่เกี่ยวโยงกัน คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานการเปิดเผยรายการที่เกี่ยวโยงกันและรายการที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยยึดหลักความสมเหตุสมผลตามปกติธุรกิจ ความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ดังเช่นที่ทำกับบุคคลภายนอกทั่วไป ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบและเปิดเผยต่อตลท. อย่างถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม

  3. การสอบทานการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานความเหมาะสมและประสิทธิภาพของกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทฯ เป็นประจำทุกไตรมาส ซึ่งกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทฯ ในปี 2566 นั้นมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการสอบทานการประเมินความเสี่ยง และมาตรการเพื่อการลดความเสี่ยง โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาผลกำไรของธุรกิจของปูนซีเมนต์ให้เติบโตขึ้นโดยการผลักดันผ่านราคาสินค้า ผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และการจัดการความเสี่ยงระดับมหภาค อาทิ ภาวะเงินเฟ้อ สงคราม แนวโน้มในระดับโลก รวมถึงความเสี่ยงด้านอุปสงค์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญและมีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ

  4. การสอบทานประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายในและการกำกับดูแลงานฝ่ายตรวจสอบภายใน คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานและทบทวนระบบการควบคุมภายในร่วมกับฝ่ายตรวจสอบภายในเป็นรายเดือน และร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท (Group Chief Executive Office) และหัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงินกลุ่ม (Group Chief Finance Officer) และผู้สอบบัญชีเป็นรายไตรมาส โดยขอบเขตของการทบทวน ครอบคลุมถึง หัวข้อที่ธุรกิจให้ความสำคัญ และประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนขององค์กร และการเสริมสร้างระบบการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ความรู้และสร้างความตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบแก่พนักงานและผู้บริหาร คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาและพอใจกับการปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำในรายงานของผู้ตรวจสอบภายใน และมีความเห็นว่า ระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ และเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของผู้สอบบัญชีว่าไม่มีข้อบกพร่องที่มีสาระสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทฯ ท้ายที่สุด คณะกรรมการตรวจสอบได้ทบทวนและอนุมัติแผนงานการตรวจสอบประจำปี 2567 รวมทั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตรวจสอบให้เป็นไปตามแผนงานดังกล่าว

  5. การสอบทานการปฏิบัติตามระบบและการกำกับดูแลกิจการที่ดี คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ก.ล.ต. และตลท. รวมทั้งกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยได้ทบทวนรายงานสรุปการปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบได้เสนอแนะเพิ่มเติมให้เสริมสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติตามระบบและการกำกับดูแลกิจการที่ดีผ่านการฝึกอบรม และการสื่อสารทาง Share and Learn ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบยังได้ทบทวนผลการสอบสวนผ่านข้อร้องเรียนทางสายด่วน (INSEE Speak Up) ซึ่งครอบคลุมถึงการร้องเรียนจากบุคคลภายนอก คณะกรรมการตรวจสอบได้ทบทวนผลการสอบสวนทุจริต และการประเมินความเสี่ยงด้านทุจริต รวมทั้ง ผลกระทบจากการทุจริต เพื่อจะได้ปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน ให้ป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการทำงาน นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบทบทวนกรอบโครงสร้าง การกำกับดูแล ความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (GRC) ที่ได้รับการปรับปรุง ซึ่งรวมถึง Manual of Authorities และแนวนโยบาย (Policy Landscape) ของทุกบริษัทในกลุ่มบริษัทฯ

  6. การพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี 2567 คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาเสนอให้แต่งตั้ง นางสาวกมลทิพย์ เลิศวิทย์วรเทพ และ/หรือ นางสรินดา หิรัญประเสริฐวุฒิ และ/หรือ นางสาวสาธิดา รัตนานุรักษ์ แห่งบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด ให้เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทสำหรับปี 2567 รวมถึงพิจารณาค่าสอบบัญชีซึ่งได้เสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาและจะขออนุมัติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ต่อไป

โดยสรุป คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่างบการเงินของบริษัทได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน รายการที่เกี่ยวโยงกันเป็นไปตามหลักความสมเหตุสมผลตามปกติธุรกิจ ความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ การบริหารความเสี่ยง และระบบการควบคุมภายในเพียงพอและมีประสิทธิภาพ และมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

ดร. สุนีย์ ศรไชยธนะสุข
ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ