เรียน ท่านผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการการลงทุนและการเงินก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการสามท่านจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการบริษัท โดยประธานกรรมการของคณะกรรมการการลงทุนและการเงินเป็นกรรมการอิสระ และกรรมการทุกท่านมีความรู้และประสบการณ์อย่างกว้างขวางในสายอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคณะกรรมการการลงทุนและการเงินเพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาต่อคณะกรรมการบริษัทในด้าน (1) การลงทุน การถอนการลงทุน และโครงการการลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวต่าง ๆ รวมถึงแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการเหล่านั้น (2) การทบทวนโครงสร้างงบดุลทั้งสำหรับบริษัทแม่และบริษัทย่อย ซึ่งรวมถึงด้านที่เกี่ยวกับการบริหารการเงิน และ (3) นโยบายกลุ่มบริษัทฯ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการบริหารการเงิน

คณะกรรมการการลงทุนและการเงินปฏิบัติหน้าที่ตามระบุในกฎบัตรตามที่ได้รับอนุมัติโดยคณะกรรมการบริษัท โดยหน้าที่ดังกล่าวเน้นในธุรกิจซึ่งมีความสำคัญลำดับต้นๆ ของบริษัทฯ ในปี 2566 คณะกรรมการการลงทุนและการเงินมีการประชุมรวมห้าครั้ง โดยกรรมการทุกท่านเข้าร่วมประชุมครั้งที่หนึ่งและสอง และกรรมการสองในสาม เข้าร่วมประชุมครั้งที่สามถึงห้า โดยมีกรรมการท่านหนึ่งไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการฟื้นฟูร่างกายภายหลังจากอุบัติเหตุรุนแรง อย่างไรก็ตาม กรรมการท่านดังกล่าวได้รับข้อมูลที่แจ้งเวียนต่อคณะกรรมการการลงทุนและการเงิน และได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว

กิจกรรมหลักโดยคณะกรรมการการลงทุนและการเงิน (เรียกโดยย่อว่า “IFC”) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้:

  1. ทบทวนทิศทาง/กลยุทธ์/ธุรกิจ (portfolio) และเป้าหมายการเงินในระยะกลางของกลุ่มธุรกิจ: IFC ได้ทบทวนกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจ และดัชนีชี้วัดความสำเร็จด้านการเงินระยะกลาง และรับทราบว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายเนื่องจากความต้องการของตลาดลดลงในประเทศเวียดนาม ศรีลังกา รวมถึงตลาดการส่งออก IFC แนะนำว่า บริษัทฯ ยังคงกำหนดเป้าหมายทางการเงินระยะกลางไว้ตามเดิม โดยเน้นการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน รักษาความแข็งแกร่งด้านกระแสเงินสด ด้านสภาพคล่อง ตลอดจนการลดภาระหนี้ให้ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในปี 2566

  2. ทบทวนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักเงินลงทุน วงเงินสินเชื่อ สภาพคล่อง เงินปันผล และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน:

    (ก) IFC ทบทวนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักเงินลงทุน และ EBITDA Net Leverage และแนะนำว่า ผู้บริหารควรให้ข้อมูลแก่นักลงทุนเกี่ยวกับค่าใช้ที่จ่ายครั้งเดียวและค่าตัดจำหน่ายที่ส่งผลกระทบต่อ EBITDA และสื่อสารเกี่ยวกับแนวทางในการลดภาระหนี้

    (ข) IFC รับทราบว่า บริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอทั้งวงเงินแบบ committed and uncommitted

    (ค) IFC ได้พิจารณาและให้ข้อแนะนำว่าผู้บริหารควรพิจารณาทางเลือกข้อเสนอวงเงินสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ เพื่อโครงการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องและส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายของกลุ่มบริษัทฯ ด้านความยั่งยืน โดยอาจพิจารณาทางเลือกดังกล่าวหลังจากมีการวิเคราะห์และศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้ว

  3. ข้อเสนอค่าใช้จ่ายในการลงทุน: IFC ได้ทบทวนข้อเสนอค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับหกเดือนหลังของปี 2566 และของปี 2567 และแนะนำให้เน้นการลงทุนในการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการดำเนินงานและการขยายกิจการตามความจำเป็น นอกจากนี้ IFC ได้หารือเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

  4. ทบทวนกรอบการประกันภัยของกลุ่มบริษัทฯ และการประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่: IFC ได้ทบทวนกรอบการประกันภัยของกลุ่มบริษัทฯ และการประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ และทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทในการต่ออายุกรมธรรม์ดังกล่าว

  5. ทบทวนกลยุทธ์ด้านนักลงทุนสัมพันธ์ในภาพรวม รวมทั้งแผนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารกับนักลงทุน: IFC แนะนำให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านนักลงทุนสัมพันธ์จากภายนอกในปี 2566 และรับทราบกิจกรรมการสื่อสารกับนักลงทุน และแนะนำให้ผู้บริหารเข้าร่วมกิจกรรมด้านลงทุนสัมพันธ์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้มากขึ้น ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านนักลงทุนสัมพันธ์ต่อไป

โดยสรุป คณะกรรมการการลงทุนและการเงินสามารถช่วยคณะกรรมการบริษัทในเรื่องการพิจารณาด้านต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งทำให้การกำกับดูแลฝ่ายจัดการเป็นไปอย่างรอบคอบ และเพื่อทบทวนการใช้เงินของบริษัทฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีเพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ของบริษัทในการสร้างสิ่งที่ดีที่สุดและอนาคตที่ยั่งยืนให้กับทุกท่าน

นายออนเน่ แวน เดอ ไวเดอ
ประธานคณะกรรมการการลงทุนและการเงิน